- ผู้นำจีนประกาศว่า จีนจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศสูงสุดในปี 2573 ก่อนที่จะค่อยๆลดลงมาสู่ "คาร์บอนสมดุล" ภายใน 40 ปีข้างหน้า ขณะที่ผู้นำสหรัฐฯยังยืนยันถอนตัวจากความตกลงปารีสลดโลกร้อน
- จีนเริ่มตั้งระบบซื้อขายก๊าซคาร์บอนครั้งแรกเมื่อปี 2561 ดำเนินการปิดเหมืองถ่านหินขนาดเล็กและขนาดกลาง ส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาด
- จับตาจีนเผชิญหนทางท้าทาย ทำอย่างไรถึงจะบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นผู้นำโลกด้านสิ่งแวดล้อม
ประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" ของจีน ประกาศผ่านระบบวิดีโอลิงก์ไปยังที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 22 ก.ย. สร้างความประหลาดใจให้กับทั่วโลกว่าจีนจะก้าวเดินครั้งสำคัญไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศ "คาร์บอนสมดุล" (Carbon neutrality) ภายในปี 2603 หรือในอีก 40 ปีข้างหน้า โดยกว่าจะถึงวันนั้น จีนจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่ชั้นบรรยากาศถึงเพดานสูงสุดในปี 2573 ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงมา พร้อมกันนี้ผู้นำจีนบอกว่า จีนจะยึดมั่นปฏิบัติตามพันธกรณีในความตกลงปารีสว่าด้วยการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศหันมาเร่งดำเนินการอย่างจริงจังในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง แม้ว่าในขณะนี้หลายประเทศจะกำลังต่อสู้อย่างหนักกับการแพร่ระบาดของโควิด-19
แม้จนถึงวันนี้จีนจะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด แนวทางดำเนินงานไปสู่การเป็นประเทศคาร์บอนสมดุล แต่คำประกาศของจีนนับเป็นก้าวสำคัญที่ยิ่งใหญ่ ทำให้ทั่วโลกเกิดความหวังว่าโลกจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ทำให้อุณหภูมิไม่ต้องเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่น่าตกใจอีก หลังจากที่การเจรจาลดโลกร้อนเวทีใหญ่ที่ยูเอ็นเป็นเจ้าภาพ ที่เรียกว่าการประชุม COP26 ต้องเลื่อนออกไปจนถึงปีหน้า เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ที่ผ่านมา จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดของโลก ในปี 2561 และ 2562 ตัวเลขยังสูงต่อเนื่อง แม้โลกจะเริ่มหันมาใช้พลังงานทางเลือกแทนน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล และเมื่อถึงช่วงโควิด-19 จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงถึง 25% แต่พอเข้าสู่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โรงงานที่ใช้พลังงานถ่านหิน ซีเมนต์ และอุตสาหกรรมหนัก ก็กลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง
"คาร์บอนสมดุล" คืออะไร
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นตัวการให้เกิดภาวะโลกร้อน ในการต่อสู่กับภาวะโลกร้อน ก็ต้องอาศัยแนวคิดการเกิดความสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศกับการดูดซับก๊าซนี้จากชั้นบรรยากาศ
ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลก ตั้งแต่ไอเสียจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ควันจากโรงงานถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ ไปจนถึงกระบวนการผลิตอาหาร ล้วนก่อให้เกิดร่องรอยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เรียกว่า คาร์บอนฟุตปริ้น (Carbon footprint) ขณะที่คาร์บอนสมดุลคือการทำให้ตัวเลขการปล่อยก๊าซเท่ากับศูนย์ แต่ในปัจจุบันนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเลย จึงเกิดการชดเชยคาร์บอนขึ้นมาผ่านตลาดซื้อขายคาร์บอนภายในองค์กร หรือประเทศ เพื่อให้ตัวเลขคาร์บอนเป็นศูนย์ตามเป้าหมาย
เส้นทางสู่คาร์บอน 0%
ในการจะเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ ภายในอีก 40 ปีข้างหน้านั้น จีนซึ่งเป็นประเทศที่เคยปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นสองเท่าของสหรัฐฯในปีที่แล้ว และปล่อยก๊าซคาร์บอนถึง 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 28% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ถูกปล่อยทั่วโลกในแต่ละปี จะต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนจากถ่านหินและรถยนต์เป็นศูนย์ และมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กันทั่วประเทศ
จีนจะต้องออกนโยบายที่จะนำพาการพัฒนาประเทศของทุกภาคส่วนดำเนินไปในแนวทางเดียวกัน ทั้งด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และพลังงาน และจัดทำ "ระบบซื้อขายคาร์บอน" ซึ่งจีนได้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การพัฒนาที่ยั่งยืน ลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าที่มาจากการผลิตด้วยพลังงานทางเลือก
ผลกระทบภายนอกที่คาดไม่ถึง
หากจีนทำสำเร็จตามเป้าหมาย คาดว่าจะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกลงไปได้ 2.4-2.5 องศาเซลเซียส และเมื่อชาวจีนทั้งประเทศจะหันไปใช้พลังงานทางเลือกกันอย่างพร้อมเพรียง อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทุกครัวเรือน ก็หมายความว่าเมื่อปริมาณความต้องการแผงโซลาร์เซลล์มีมากขึ้น ราคามันจะต้องถูกลงมาก ทั่วโลกก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่หลายฝ่ายคาดไม่ถึง เมื่อหลายประเทศก็หันมาใช้แผงโซลาร์เซลล์ราคาถูกเช่นกัน ปริมาณก๊าซคาร์บอนที่จะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจะลดลงไปราว 500 ล้านตันต่อปี
ในขณะที่ผลกระทบภายนอกด้านลบก็อาจเกิดขึ้น เมื่อคนจีนใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลกันน้อยลง ก็อาจจะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกดิ่งลงไปได้อีกประมาณ 5% การเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศอื่นๆ ก็อาจจะช้าลง
จับตาผู้ชนะในเกมการเมือง
ในขณะที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศยืนยันการตัดสินใจถอนตัวจากความตกลงปารีสลดโลกร้อน ผู้นำจีนกลับประกาศในสิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึงในการเป็นประเทศคาร์บอนสมดุล ในอีก 40 ปีข้างหน้า นายหลี่ ฉั่ว ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสภาพอากาศของจีน จากกรีนพีซเอเชีย มองว่า ในประเด็นใหญ่ระดับโลกอย่างปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง สี จิ้นผิง มักจะชอบทำเซอร์ไพรส์ด้วยการพาจีนก้าวกระโดดไปไกลกว่าประเทศอื่น และก่อให้เกิดคำถามด้านภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลกว่า จีนนำไปก่อนแล้วนะ สหรัฐฯจะเดินตามมาได้หรือยัง
หลายฝ่ายมองว่า การที่จีนซึ่งเป็นประเทศปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่ ไม่ได้ประกาศเป้าหมายก่อนหน้านี้ เพราะยังไม่เกิดการเปลี่ยนผ่านทางสังคมเพียงพอ และยังไม่มีการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ มากพอ นับเป็นการตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย และน่าจับตามองว่าจีนจะทำอย่างไรเมื่อต้องพัฒนาประเทศที่ก่อให้เกิดการใช้พลังงาน และต้องลดก๊าซคาร์บอนไปด้วย ดังนั้นแผนโรดแม็ปในการก้าวสู่การเป็นประเทศคาร์บอนสมดุลของจีนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปีที่กำลังจะออกมา จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองต่อไป.
ผู้เขียน: เมาคลีล่าข่าว
ที่มา : NewYorkTimes, BBC, CNN
อ่านเพิ่มเติม...
September 28, 2020 at 08:09AM
https://ift.tt/3mWpJcq
จีนกับเส้นทางสู่การเป็นประเทศ "คาร์บอนสมดุล" - ไทยรัฐ
https://ift.tt/2XKd8gI
Home To Blog
No comments:
Post a Comment